"ไอซีที"เทเงิน 250 ล.สร้างมาตรฐาน อีโลจิสติกส์ข้อมูล"นำเข้า-ส่งออก"

"ไอซีที" เดินเครื่องกระจายงบฯ 250 ล้านบาทให้หน่วยงานรัฐพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการนำเข้า-ส่งออกให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนและเวลาการนำเข้า-ส่งออก
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานสัมมนาเรื่องแนวทางการกำหนดมาตรฐานรายการข้อมูลและโครงสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ (data harmonization and data modeling for single window E-logistics) ว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2550 มีมติให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ โดยกำหนดมาตรฐานรายการข้อมูลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ (UNeDocs) เพื่อให้ ผู้ประกอบการสามารถรับส่งข้อมูลทางอิเล็ก ทรอนิกส์กับองค์กรที่เกี่ยวข้องอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศได้ในอนาคต 
นายสมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและแบบจำลองข้อมูลสำหรับระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐกล่าวเสริมว่า ครม.ได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงไอซีที 250 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมติ โดยกำหนดเป้าหมายที่จะปรับลดเวลาที่ใช้กับงานเอกสารและดำเนินการเพื่อนำเข้า-ส่งออกจาก 24 วัน เหลือ 15 วันภายในสิ้นปีนี้
ที่ผ่านมาไอซีทีได้จัดสรรงบประมาณ 112 ล้านบาทให้กับหน่วยงานรัฐ 9 แห่งไปแล้ว อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร กรมสรรพสามิต เพื่อนำไปพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลและระบบสนับสนุนของหน่วยงาน ซึ่งหากหน่วยงานใดต้องการสนับสนุนสามารถยื่นโครงการเสนอเพิ่มเติมได้
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐเตรียมจัดทำมาตรฐานรายการข้อมูลเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ หลังพบว่าไทยมีปัญหาด้านเอกสารในขั้นตอนโลจิสติกส์ การนำเข้า-ส่งออกที่แต่ละครั้งผู้ประกอบการต้องกรอกเอกสารไม่น้อยกว่า 40 แบบฟอร์ม มีรายการข้อมูลกว่า 200 รายการให้กับ 28 หน่วยงานรัฐ และ 8 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกว่า 60% ของข้อมูลต้องกรอกซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง และมีข้อมูลอย่างน้อย 30 รายการที่ต้องกรอกซ้ำ 30 ครั้ง ก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ต้องใช้เวลานานและต้นทุนสูง
ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ปัญหาความล่าช้านี้จะทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10% ซึ่งปัญหานี้แก้ไขได้โดยการมีศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

สิ่งยืนยันที่สำคัญคือ หลังจากกรมศุลกากรได้พัฒนาระบบศุลกากรไร้กระดาษเมื่อต้นปีที่แล้ว รายงานของธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าจะทำให้ไทยใช้เวลาในการส่งออกลดลงเหลือ 17 วันได้ในปลายปีนี้ จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 24 วัน รวมถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งออกก็จะเหลือแค่ 615 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ จากเดิมอยู่ที่ 848 เหรียญ
นายสมนึกกล่าวว่า สำหรับเวลาในการนำเข้าก็คาดว่าปลายปีนี้จะเหลือเพียง 14 วัน จากเดิม 22 วัน และค่าใช้จ่ายจะลดเหลือ 786 เหรียญสหรัฐต่อตู้ เดิมอยู่ที่ 1,042 เหรียญ แต่ก็ยังช้าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่ใช้เวลาในการส่งออกสินค้าเพียง 5 วัน ค่าใช้จ่าย 416 ล้านเหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่การนำเข้าก็ใช้เวลา 3 วัน ค่าใช้จ่าย 367 เหรียญสหรัฐต่อตู้ 
ที่มา - ประชาชาติธุรกิจ